ความหมายของการปกครองท้องถิ่น
ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539) ได้สรุปแนวความคิดของนักวิชาการและนักปกครองที่เกี่ยว กับการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ว่า คำนิยามความหมายของการปกครองท้องถิ่น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคำนิยามไว้ ส่วนใหญ่มีหลักการที่สำคัญคล้ายคลึงกัน จะต่างคือสำนวนและรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
เดเนียล วิท (Daniel Wit) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อำนาจหรือกระจายอำนาจไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชน ในท้องถิ่นได้มีอำนาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเป็นบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่า ถ้าอำนาจการปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่น ก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน
วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) (1951 : 101-103) นิยามว่าการปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักที่กำหนดไว้ มีอำนาจการปกครองตนเอง มีการบริหารการคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
โจน เจ. คลาร์ก (John J. Clarke) (1957 : 87-89) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการ ปกครองที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด โดยเฉพาะ และหน่วยการปกครอง ดังกล่าวนี้จัดตั้งและอยู่ในความดูแลของรัฐบาลกลาง
แฮรีส จี. มอนตากู (Haris G. Montagu) (1984 : 574) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระเพื่อเลือกผู้ที่มีหน้าที่บริหาร การปกครองท้องถิ่น มีอำนาจอิสระพร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจาก การควบคุมของหน่วย การบริหารราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ยังต้องอยู่ภายใต้ บทบังคับว่าด้วยอำนาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด
อีไมล์ เจ. ซัดดี้ (Emile J. Sady) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครอง ทางการเมืองที่อยู่ในระดับต่ำจากรัฐ ซึ่งก่อตั้งโดยกฎหมาย และมีอำนาจอย่างเพียงพอที่จะทำกิจการ ในท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง รวมทั้งอำนาจจัดเก็บภาษี เจ้าหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่น ดังกล่าวอาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยท้องถิ่นก็ได้ (อุทัย หิรัญโต, 2523 : 4)
ประทาน คงฤทธิศึกษากร นิยามว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่เป็นผล สืบเนื่องมาจากการกระจายอำนาจทางการปกครอง ของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทำหน้าที่ ปกครองท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ องค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มี อำนาจในการกำหนดนโยบายและควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตนเอง
อุทัย หิรัญโต นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐบาลมอบอำนาจให้ประชาชน ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดำเนินการ บางอย่าง โดยดำเนินการกันเอง เพื่อบำบัดความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุม ของรัฐหาได้ไม่เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทำให้เกิดขึ้น (อุทัย หิรัญ-โต, 2523 : 2)
วิลเลี่ยม เอ. ร๊อบสัน (William A. Robson) นิยามว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้มีอำนาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จำเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ (William A. Robson, 1953 : 574)
จากนิยามต่าง ๆ ข้างต้นสามารถสรุปหลักการปกครองท้องถิ่นได้ในสาระสำคัญ ดังนี้ (ชูวงศ์ ฉายะบุตร : 2539)
การปกครองของชุมชนหนึ่ง ซึ่งชุมชนเหล่านั้นอาจมีความแตกต่างกันในด้านความเจริญ จำนวนประชากรหรือขนาดของพื้นที่ เช่น หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ของไทยจัดเป็นกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหาร ส่วนตำบล และเมืองพัทยาตามเหตุผลดังกล่าว
หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจอิสระ (Autonomy) ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามความเหมาะสม กล่าวคือ อำนาจของหน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีขอบเขตพอควร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากมีอำนาจมากเกินไปไม่มีขอบเขต หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ก็จะกลายสภาพเป็น รัฐอธิปไตยเอง เป็นผลเสียต่อความมั่นคงของรัฐบาล อำนาจของท้องถิ่นนี้มีขอบเขต ที่แตกต่างกันออกไป ตามลักษณะความเจริญและความสามารถของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เป็นสำคัญ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลในการพิจารณาการกระจายอำนาจให้หน่วยการปกครอง ท้องถิ่นระดับใด จึงจะเหมาะสม
หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) ที่จะดำเนินการ ปกครองตนเอง สิทธิตามกฎหมายแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
หน่วยการปกครองท้องถิ่นมีสิทธิที่จะตรากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์การปกครองท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการบริหารตามหน้าที่และ เพื่อใช้บังคับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น เทศบัญญัติ ข้อบังคับ สุขาภิบาล เป็นต้น
สิทธิที่เป็นหลักในการดำเนินการบริหารท้องถิ่น คือ อำนาจในการกำหนดงบประมาณ เพื่อบริหารกิจการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยการปกครอง ท้องถิ่นนั้น ๆ
มีองค์กรที่จำเป็นในการบริหารและการปกครองตนเอง องค์กรที่จำเป็นของท้องถิ่น จัดแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ องค์การฝ่ายบริหารและองค์การฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การปกครอง ท้องถิ่นแบบเทศบาลจะมีคณะเทศมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร และสภาเทศบาลเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือในแบบมหานคร คือกรุงเทพมหานครจะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายบริหาร สภากรุงเทพมหานครจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น
ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539 : 26) ได้จำแนกวัตถุประสงค์ของการปกครองท้องถิ่นไว้ดังนี้
ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าในการบริหารประเทศ จะต้องอาศัยเงินงบประมาณเป็นหลัก หากเงินงบประมาณจำกัด ภารกิจที่จะต้องบริการ ให้กับชุมชนต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นหากจัดให้มีการปกครองท้องถิ่น หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นๆ ก็สามารถมีรายได้ มีเงินงบประมาณของตนเองเพียงพอ ที่จะดำเนินการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่นได้ จึงเป็นการแบ่งเบาภาระของ รัฐบาลได้เป็นอย่างมาก การแบ่งเบานี้เป็นการแบ่งเบาทั้งในด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ
เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
เนื่องจากประเทศมีขนาดกว้างใหญ่ ความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ ย่อมมีความแตกต่างกัน การรอรับการบริการจากรัฐบาลแต่อย่างเดียว อาจไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงและล่าช้า หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีประชาชน ในท้องถิ่นเป็นผู้บริหารเท่านั้น จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้
เพื่อความประหยัด โดยที่ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน สภาพความเป็นอยู่ของ ประชาชนก็ต่างไปด้วย การจัดตั้งหน่วยปกครองท้องถิ่นขึ้นจึงมีความจำเป็น โดยให้อำนาจ หน่วยการปกครองท้องถิ่นจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นวิธีการหารายได้ให้กับท้องถิ่นเพื่อ นำไปใช้ในการบริหารกิจการของท้องถิ่น ทำให้ประหยัดเงินงบประมาณของรัฐบาล ที่จะต้องจ่ายให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นอันมาก และแม้จะมีการจัดสรรเงินงบประมาณจาก รัฐบาลไปให้บ้างแต่ก็มีเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่าง รอบคอบ
เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย แก่ประชาชน จากการที่การปกครองท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการปกครองตนเอง ไม่ว่าจะโดยการสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเลือก เข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็ตาม การปฏิบัติ หน้าที่ที่แตกต่างกันนี้มีส่วนในการส่งเสริมการเรียนรู้ถึงกระบวนการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยในระดับชาติได้เป็นอย่างดี
ความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น
จากแนวความคิดในการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางการปกครองของรัฐในอันที่ จะรักษาความมั่นคงและความผาสุกของประชาชน โดยยึดหลักการกระจายอำนาจปกครอง และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นจึงสามารถสรุปได้ดังนี้
การปกครองท้องถิ่นคือรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย (Basic Democracy) เพราะการปกครองท้องถิ่นจะเป็นสถาบันฝึกสอนการเมืองการปกครองให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวพันกับส่วนได้ส่วนเสียในการปกครอง การบริหารท้องถิ่น เกิดความรับผิดชอบ และหวงแหนต่อประโยชน์อันพึงมีต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย อันจะนำมา ซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด (ชูศักดิ์ เที่ยงตรง, 2518 : 6-7) โดยประชาชนจะมีโอกาสเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร การเลือกตั้งจะเป็นการฝึกฝน ให้ประชาชนใช้ดุลพินิจเลือกผู้แทนที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารกิจการ ของท้องถิ่น นับได้ว่าเป็นผู้นำในท้องถิ่นจะได้ใช้ความรู้ความสามารถบริหารงานท้องถิ่น เกิดความคุ้นเคยมีความชำนิชำนาญในการใช้สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การมี ส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติต่อไป
การปกครองท้องถิ่นทำให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักการปกครองตนเอง (Self Government) หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประการหนึ่งก็คือ การปกครองตนเองมิใช่เป็น การปกครองอันเกิดจากคำสั่งเบื้องบน การปกครองตนเองคือ การที่ประชาชนมีส่วนร่วม ในการปกครอง ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นนอกจากจะได้รับเลือกตั้งมาเพื่อรับผิดชอบบริหารท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากประชาชนแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องฟังเสียง ประชาชนด้วยวิถีทางประชาธิปไตยต่าง ๆ เช่น เปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (Referendum) ให้ประชาชนมีอำนาจถอดถอน (Recall) ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความสำนึก ในความสำคัญของตนต่อท้องถิ่น ประชาชนจะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรคปัญหาและช่วยกันแก้ไข ปัญหาของท้องถิ่นของตน (อนันต์ อนันตกูล, 2521 : 6-7)
นอกจากนี้ การปกครองตนเองในรูปของการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริงหรือ การกระจายอำนาจไปในระดับ ต่ำสุดคือ รากหญ้า (Grass roots) ซึ่งเป็นฐานเสริมสำคัญยิ่ง ของการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความล้มเหลวของ ระบอบประชาธิปไตยมีหลายองค์ประกอบ แต่องค์ประกอบสำคัญยิ่งยวดอันหนึ่ง ก็คือการขาดรากฐานในท้องถิ่น (ลิขิต ธีรเวคิน, 2525 : 3)
การปกครองท้องถิ่นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่นมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแบ่งเบาภาระ ของรัฐบาล เนื่องจากความจำเป็นบางประการ ดังนี้ (ชูวงศ์ ฉายะบุตร, 2539 : 28-29)
ภารกิจของรัฐบาลมีอยู่อย่างกว้างขวาง นับวันจะขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จาก งบประมาณที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง
รัฐบาลมิอาจจะดำเนินการในการสนองความต้องการของประชาชน ในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหา และความต้องการ ที่แตกต่างกัน การแก้ปัญหาหรือจัดบริการโครงการในท้องถิ่นโดยรูปแบบที่เหมือนกัน ย่อมไม่บังเกิดผลสูงสุด ท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาและเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า ผู้ซึ่งไม่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ประชาชนในท้องถิ่นจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นมากที่สุด
กิจการบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่นนั้น ไม่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอื่น และไม่มีส่วนได้ ส่วนเสียต่อประเทศโดยส่วนรวม จึงเป็นการสมควรที่จะให้ประชาชนในท้องถิ่น ดำเนินการดังกล่าวเอง
ดังนั้น หากไม่มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลจะตัองรับภาระดำเนินการทุกอย่าง และไม่แน่ว่าจะสนองความต้องการของท้องถิ่นทุกจุดหรือไม่ รวมทั้งจะต้องดำเนินการ เฉพาะท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นอื่น หากได้จัดให้มีการปกครองท้องถิ่น เพื่อดำเนินการเองแล้ว ภาระของรัฐบาลก็จะผ่อนคลายไป รัฐบาลจะมีหน้าที่เพียงแต่ควบคุม ดูแลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้ท้องถิ่นมีมาตรฐานในการดำเนินงานยิ่งขึ้น
การแบ่งเบาภาระทำให้รัฐบาลมีเวลาที่จะดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ หรือกิจการใหญ่ ๆ ระดับชาติอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ความคับคั่งของภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่รวมอยู่ส่วนกลางจะลดน้อยลง ความคล่องตัวในการดำเนินงานของส่วนกลางจะมีมากขึ้น
การปกครองท้องถิ่นสามารถสนองความต้องการของท้องถิ่นตรงเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไม่ว่าทางสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ประชาชน ความต้องการ และปัญหาย่อมต่างกันออกไป ผู้ที่ให้บริการหรือแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนก็ต้องเป็น ผู้ที่รู้ถึงปัญหาและความต้องการ ของประชาชนเป็นอย่างดี การบริหารงานจึงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเสียเวลาเสนอเรื่องขออนุมัติ ไปยังส่วนเหนือขึ้นไป ท้องถิ่นจะบริหารงานให้เสร็จสิ้นลง ภายในท้องถิ่นนั่นเอง ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
การปกครองท้องถิ่นจะเป็นแหล่งสร้างผู้นำทางการเมือง การบริหารของประเทศในอนาคต ผู้นำหน่วยการปกครองท้องถิ่นย่อมเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมือง การได้รับเลือกตั้ง การสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่นย่อมเป็นพื้นฐานที่ดีต่ออนาคตทางการเมืองของตน และยังฝึกฝนทักษะทางการบริหารงานในท้องถิ่นอีกด้วย ในประเทศไทย ผู้นำทางการเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น นายทองหยด จิตตะวีระ, นายสุรินทร์ เทพกาญจนา เป็นต้น ล้วนแต่มีผลงานจากการเป็นนายกเทศมนตรี หรือผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน จนสามารถประสบความสำเร็จเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ (วิญญู อังคณารักษ์, 2518 : 98)
การปกครองท้องถิ่นสอดคล้องกับแนวความคิดในการพัฒนาชนบท แบบพึ่งตนเอง การปกครองท้องถิ่นโดยยึดหลักการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดการพัฒนาชนบท แบบพึ่งตนเองทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การดำเนินงานพัฒนาชนบท ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ซึ่งการพัฒนาชนบทที่สัมฤทธิ์ผลนั้น จะต้องมาจากการริเริ่มช่วยตนเอง ของท้องถิ่น ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมแรงกัน โดยอาศัยโครงสร้างความเป็นอิสระ ในการปกครองตนเอง ซึ่งต้องมาจากการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว การพัฒนาชนบทจะเป็นลักษณะ “หยิบยื่นยัดใส่ หรือกึ่งหยิบยื่นยัดใส่” เกิดความคาดหวัง ทุกปีจะมี “ลาภลอย” แทนที่จะเป็นผลดีต่อท้องถิ่นกลับสร้างลักษณะการพัฒนาแบบพึ่งพา ไม่ยอมช่วยตนเอง อันเป็นผลทางลบต่อการพัฒนาพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย (ลิขิต ธีรเวคิน, 2528 : 3-4) ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงจะทำให้เกิดลักษณะการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญ ของการพัฒนาชนบทอย่างยิ่ง
การกระจายอำนาจมีข้อพึงระวังและได้กลายเป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีอยู่หลายประการดังได้กล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ของขอบเขต การกระจายอำนาจและการคำนึงถึงระดับความรู้ความ สามารถของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างมาก และมีมานานตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กล่าวคือ ได้มีการถกเถียงถึงความพร้อมของประชาชนต่อการปกครองตนเอง มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่จากความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นนั้น หากจะมองรวม เป็นจุดใหญ่ ๆ แล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็นสองด้านคือ ด้านการเมืองการปกครอง และการบริหาร กล่าวคือ ในด้านการเมืองการปกครองนั้น เป็นการปูพื้นฐานของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย และการเรียนรู้การปกครองตนเอง ส่วนด้านการบริหารนั้น เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและประชาชนในท้องถิ่นได้หาทางตอบ สนองแก้ปัญหา ด้วยตนเอง ด้วยกลไกทางการบริหารต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการจัดการ ฯลฯ
องค์ประกอบการปกครองส่วนท้องถิ่น
ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องประกอบด้วย องค์ประกอบ 8 ประการ คือ (อุทัย หิรัญโต, 2523 : 22)
สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกำหนดเรื่องการปกครองท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองท้องถิ่นในประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่าการปกครองท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น เพราะข้อความที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศนั้นมีนโยบายที่จะกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
พื้นที่และระดับ (Area and Level) ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการกำหนดพื้นที่และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และความสำนึกในการปกครองตนเองของประชาชน จึงได้มีกฎเกณฑ์ที่จะกำหนดพื้นที่และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 2 ระดับ คือ หน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สำหรับขนาดของพื้นที่จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (UNESCO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักกิจการสังคม (Bureau of Social Affair) ได้ให้ความเห็นว่าหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่สามารถให้บริการและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ ควรมีประชากรประมาณ 50,000 คน แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องพิจารณาด้วย เช่น ประสิทธิภาพในการบริหาร รายได้ และบุคลากร เป็นต้น
การกระจายอำนาจและหน้าที่ การที่จะกำหนดให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการ ปกครองของรัฐบาลเป็นสำคัญ
องค์การนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับ ควบคุมให้มีการปฏิบัติตามนโยบายนั้น ๆ
การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง
อิสระในการปกครองตนเอง สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติ กิจการภายใน ขอบเขตของกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชา ของหน่วยงานทางราชการ
งบประมาณของตนเอง มีอำนาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทำนุบำรุง ท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วยังคงอยู่ในการกำกับ ดูแลจากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม โดยการมีอิสระ ในการดำเนินงานของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่ามีอิสระเต็มที่ทีเดียว คงหมายถึงเฉพาะอิสระในการดำเนินการเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้วท้องถิ่น จะกลายเป็น รัฐอธิปไตยไป (อนันต์ อนันตกูล, 2521 : 10) รัฐจึงต้องสงวนอำนาจในการควบคุมดูแลอยู่
การปกครองท้องถิ่นกำหนดขึ้นบนพื้นฐานทฤษฎีการกระจายอำนาจและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมุ่งเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและกิจกรรม การปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากลักษณะสำคัญของการปกครองท้องถิ่น ที่เน้นการมีอำนาจอิสระในการปกครองตนเองมีการเลือกตั้ง มีองค์การหรือสถาบันที่จำเป็น ในการปกครองตนเอง และที่สำคัญก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการปกครอง ตนเองอย่างกว้างขวาง
วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558
ทฤษฎีการเมือง
ทฤษฎีการเมืองเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยการตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ การสรุปผล การตีความ การอธิบาย และการเสนอแนะเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆกัน จนกลายเป็นกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีทางการเมืองขึ้นมา ทฤษฎีการเมืองในปัจจุบันเป็นการแสวงหาความรู้หรือความจริงค่อนข้างมีความชัดเจนและสามารถอธิบายหรือทำนายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริง มีความน่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามการวิวัฒนาการของทฤษฎีการเมืองในยุคปัจจุบันย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีการเมืองในยุคโบราณเช่นกัน เพราะทฤษฎีการเมืองยุคโบราณเป็นพื้นฐานในการศึกษา ค้นคว้า หาคำตอบต่างๆ และมีการปรับปรุงแก้ไขในข้อบกพร่องอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก่อให้เกิดแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา
ความหมายของทฤษฎีการเมือง
ความหมายของทฤษฎีการเมืองมีหลากหลายทัศนะขึ้นอยู่กับการตีความและมุมมองของนักปราชญ์แต่ละท่าน ซึ่งพอที่จะประมวลได้ดังนี้
จรูญ สุภาพ (2528:1) ได้ให้ทัศนะว่า ทฤษฎีการเมืองมีลักษณะชัดเจนและแน่นอนกว่าปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสาระ คำอธิบายและความหมาย โดยทั่วไปทฤษฎีการเมืองจะเป็นผลเนื่องมาจากการศึกษาค้นคว้าและพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงที่อาจรับกันได้ แต่อาจไม่เป็นความจริงแท้สมบูรณ์เหมือนวิทยาศาสตร์
ทฤษฎีการเมืองจะมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากการศึกษารวบรวมความเป็นจริง หลักทั่วไปซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูล และทดสอบข้อมูลเหล่านั้นจากสภาพที่เป็นจริงในสังคม คุณค่าซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่จะพึงบังเกิดขึ้นได้ และน่าที่จะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
รอเบอร์ต อี. เมอร์ฟี่ (Robert E. Murphy) (1970 : 37) ให้ทัศนะว่า ทฤษฎีการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความคิด หรือปรัชญาเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง นักทฤษฎีการเมืองมุ่งมั่นที่จะทำความเข้าใจและตีค่าข้อมูลความจริงทั่วไปที่มีความสัมพันธ์กับการกำหนดสมมติฐาน (hypothesis) เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองและคุณค่าทางสังคม
เอ็ดเวอร์ด ซี. สมิธ (Edward C. Smith) และอาร์โนลด์ เจ.เซอร์เชอร์ (Arnold J. Zurcher, 1968 : 288 – 9 ) เสนอคำจำกัดความที่ดูจะครอบคลุมลักษณะและขอบเขตของทฤษฎีการเมืองไว้ได้ทั้งหมด โดยให้ไว้ว่า ทฤษฎีการเมืองคือ “ส่วนทั้งหมดของคำสอน(doctrine) ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิด, รูปแบบ, พฤติกรรม และจุดมุ่งหมายของรัฐ ส่วนของคำสอนนี้อาจแบ่งลักษณะออกเป็นประเภทได้ดังนี้ จริยธรรม, จินตนาการ, สังคมวิทยา, กฎหมาย, และวิทยาศาสตร์” สมิธและเซอร์เชอร์ให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ดังนี้
1) ลักษณะแบบจริยธรรม (Ethical) ได้แก่ ส่วนของทฤษฎีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในกิจกรรมทางการเมือง
2) ลักษณะแบบจินตนาการ (Speculative) คือส่วนที่เป็นความคิดฝัน หรือมโนภาพที่ยังไม่ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา เช่น การใฝ่ฝันถึงรัฐในอุดมคติ หรือการวาดภาพเลิศนครในจินตนาการ
3) ลักษณะเชิงสังคมวิทยา (Sociological) เป็นส่วนของทฤษฎีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หรือทดลองเปรียบเทียบเพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับส่วนอื่นๆ ของสังคม หรือการวิเคราะห์รัฐในรูปของการรวมตัวทางสังคม
4) ลักษณะแบบกฎหมาย (Legal) ได้แก่ส่วนที่ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของกฎหมาย สังกัปของกฎหมาย และสถานะทางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากสถาบันต่างๆ และเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะกระจายและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง
5) ลักษณะแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific) ได้แก่ทฤษฎีที่เกิดจากการสังเกตการณ์ การทดลอง เปรียบเทียบพฤติกรรมการเมืองเพื่อจะค้นหาแนวโน้มและความน่าจะเป็นไป การศึกษาสาเหตุและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฯลฯ เป็นต้น (อ้างจาก สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์. 2544 : 3 – 4 )
สมบัติ จันทรวงศ์ (2527 : 26) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ทฤษฎีการเมืองหมายถึง กฎแห่งพฤติกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นสากล ที่นักรัฐศาสตร์สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้ จะเห็นได้ว่า “ทฤษฎีการเมือง” ตามความหมายนี้ เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากการที่นักสังคมศาสตร์ พยายามทำให้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ เป็นความรู้ที่อาจมีการพิสูจน์ หรือทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่นเดียวกับกฎทางวิทยาศาสตร์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง ในทางปฏิบัติ ทฤษฎีการเมืองตามนัยนี้ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดแก่วิธีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการประเมินค่านิยม (value judgement) ทฤษฎีการเมืองซึ่งพยายามอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป โดยนำข้อเสนอต่างๆมาวางเป็นกฎเกณฑ์ จึงสามารถมีได้หลายระดับ ตามความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตและพิสูจน์ และอาจมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทั้งระบบ เช่น ทฤษฎีว่าด้วยระบบการเมือง หรือเฉพาะบางส่วนของกิจกรรมทางการเมือง เช่น ทฤษฎีพรรคการเมือง ทฤษฎีภาวะผู้นำ เป็นต้น
ตามความหมายดังกล่าวข้างต้น ทฤษฎีการเมือง หมายถึงหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ทางการเมือง ที่เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า และพิสูจน์ว่าเป็นความจริงและมีคุณค่าเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติหรือใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง
ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมือง
ทฤษฏีการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับศัพท์เฉพาะทางการเมือง เช่น ปรัชญาทางการเมือง ความคิดทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง ลัทธิการเมือง และสังกัปทางการเมือง
1) ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) เฮนรี บี เมโย(Henry B. Mayo, 1960) ให้ความหมายว่า หมายถึงหลักจริยธรรมซึ่งถือเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสังคม ปรัชญาทางการเมืองเป็นเสมือนหลักการหรือเหตุผลหรือความยึดมั่นของรัฐ หรือถ้าจะอธิบายอีกแง่หนึ่ง ปรัชญาทางการเมืองเป็นเสมือนรากฐานของระบบการเมือง ระบบการเมืองทั่วไปแต่ละแบบก็มักจะมีปรัชญาการเมืองของตัวเองที่เหมาะสมกับความต้องการและสิ่งแวดล้อม (อ้างจาก จรูญ สุภาพ : 2522)
สมพงษ์ เกษมสิน ได้ให้ความหมายของปรัชญาการเมืองไว้ว่า
ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) เป็นการศึกษาการเมืองในระดับลึกซึ้งและเกี่ยวโยงกับสาขาอื่นด้วย เพื่อให้รู้แจ้ง ปรัชญาการเมืองมักเน้นหลักจริยธรรมซึ่งเป็นเสมือนหลักการหรือเหตุผลที่ถูกต้องและมีคุณธรรม ถือเป็นรากฐานของระบบการเมืองแต่ละแบบ ปรัชญาการเมือง “อาจมีลักษณะที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นข้อคิดที่อาจพิสูจน์ไม่ได้ และมุ่งค้นหาสิ่งต่างๆ หรือหาความสัมพันธ์ต่างๆในส่วนที่วิทยาศาสตร์เข้าไปไม่ถึง” (อ้างจากสุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์, 2544 : 2 )
จรูญ สุภาพ (2528 : 2) ได้ให้ความหมายของปรัชญาการเมืองอีกนัยหนึ่งว่า
ปรัชญาการเมือง หมายถึง จินตนาการหรือการคาดการณ์ต่างๆ หรือ ความปรารถนาที่จะกำหนดลักษณะในด้านการเมืองและการปกครองที่ดีที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น ปรัชญาทางการเมืองจึงอาจไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งที่ปรากฏในปรัชญาการเมืองมักจะเน้นถึงจินตนาการหรือความมุ่งหวัง หรือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้บรรลุถึงซึ่งความสมบูรณ์แบบแห่งการเมืองและการปกครอง ปรัชญาทางการเมืองมุ่งค้นหาสิ่งต่างๆ หรือหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในส่วนที่วิทยาศาสตร์เข้าไปไม่ถึง
2. ความคิดทางการเมือง (Political Thought)
จรูญ สุภาพ (2522 : 7) ได้ให้ความหมายว่า ความคิดทางการเมือง หมายถึงความคิดความเชื่อของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในยุคใดยุคหนึ่ง แนวความคิด ลัทธิการเมืองที่สำคัญๆ ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นจาก แนวความคิดของบุคคลที่มีสติปัญญา สามารถนำเอาความรอบรู้ ประสบการณ์ และข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของสังคม เช่น พฤติกรรมของบุคคล ความปรารถนา ความต้องการ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ความร่วมมือหรือความขัดแย้งกัน รวมตลอดถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสงบสุข หรือปัญหาต่างๆที่ทำให้หลักประกันในชีวิตของบุคคลต้องเสื่อมคลายลง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต นอกจากนั้น ก็เป็นข้อคิดเกี่ยวกับการมีและการใช้อำนาจการปกครองในสังคมว่าควรจะเป็นไปในแนวใด เพื่อให้บังเกิดผลหรือประโยชน์สูงสุดต่อบรรดาผู้เป็นสมาชิกแห่งสังคมนั้น
สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์ (2544 : 1) ได้ให้ความหมายของความคิดทางการเมืองว่า ความคิดทางการเมือง หมายถึง ความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างกว้างๆ ความคิดทางการเมืองที่ใช้ตามนัยแห่งภาษาอังกฤษ เป็นเสมือนยาหม้อใหญ่ที่รวมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน ความคิดทางการเมืองมีแนวโน้มไปในทางด้านพรรณนา(descriptive) และมักเน้นหนักความคิดเชิงประวัติศาสตร์ คือเรียงลำดับว่าใครคิดอย่างใด เมื่อใด ปกติไม่ค่อยมีการแยกหัวข้อวิเคราะห์
3. อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) มักใช้ในรูปความเชื่อและความคิดในระดับที่ไม่ลึกซึ้งนัก เน้นความเชื่อศรัทธามากกว่าเหตุผล แต่อุดมการณ์ทางการเมืองมีผลในการยึดถือและมักเป็นพลังผลักดันให้เกิดการกระทำ หรือความเคลื่อนไหวทางการเมือง อุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือยึดหลักศีลธรรมและคุณธรรม แต่เป็นความคิดหรือความเชื่อที่ปลูกฝังเพื่อให้เกิดผลทางการเมือง (สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธ์ (2544 : 2)
C.J. Friedrich and Z.K. Brzinski (1961) ได้ให้ความหมายว่า อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเสมือนเป้าหมาย หรืออุดมคติทางการเมืองที่เป็นพลังผลักดันให้มนุษย์มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปฏิบัติการอย่างใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย (อ้างจาก จรูญ สุภาพ : 2522)
สมบัติ จันทรวงศ์ (2527 : 25) ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นความคิดทางการเมืองที่มุ่งผลในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปกปักรักษาระบบการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ หรือการวิพากษ์ระบบที่เป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการเกิดของระบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดทางการเมืองที่มีฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันทางสังคมเสียใหม่ให้สมบูรณ์ จะยังผลให้มนุษย์บรรลุถึงความสมบูรณ์ได้โดยอัตโนมัติ
4. ลัทธิการเมือง (Political Ism)
ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ให้ความหมายไว้ว่า
ลัทธิการเมือง (Political Ism) ได้แก่ หลักการทางการเมืองซึ่งมีลักษณะผสมผเสจากความคิดหรือทฤษฎีของเมธีหลายท่านประกอบกันเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการเมือง ชี้แนะและการจัดวางอำนาจ,โครงสร้างทางการเมือง, ความเกี่ยวพันระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจกับบุคคล และประโยชน์คุณค่าที่จะบังเกิดขึ้นในการปฏิบัติตามลัทธิ อย่างไรก็ตาม “ลัทธิการเมืองหนึ่งๆ อาจนำเอาความคิดจากปรัชญาการเมืองหลายความคิดมาผสมผสานกันก็ได้ หรือปรัชญาการเมืองหนึ่งๆ อาจก่อนให้เกิดลัทธิการเมืองมากกว่าหนึ่งลัทธิได้” (อ้างจากสุขุม นวลสกุล และโกศล โรจนพันธุ์, 2544 : 2)
จรูญ สุภาพ (2528 : 1) ได้ให้ความหมายลัทธิการเมืองไว้ว่า
ลัทธิการเมือง หมายถึงแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการเมือง โดยมุ่งอธิบายสาระสำคัญแห่งระบบการเมือง อันได้แก่ อำนาจทางการเมืองและอำนาจของรัฐ ขอบเขต ที่มา ที่ตั้งของอำนาจดังกล่าวนี้ และความเกี่ยวพันระหว่างองค์การหรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐกับบุคคล ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งรัฐนั้น ตลอดถึงผลประโยชน์และคุณค่าที่จะบังเกิดขึ้นต่อบุคคล ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นสังคมหรือชุมชน
ดังนั้น จึงปรากฏว่าลัทธิบางลัทธิสนับสนุนให้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองมีมาก ซึ่งมีผลทำให้สิทธิและบทบาทของประชาชนมีน้อยลง แต่บางลัทธิได้สนับสนุนให้บทบาทและอำนาจของบุคคลมีมากและมุ่งจำกัดอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจรัฐไม่ให้มากจนเกินไป
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและบุคคลจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแบบลัทธิที่ได้เกิดขึ้น
ที่สำคัญก็คือ ทุกลัทธิมีเหตุผลที่จะสนับสนุนคุณประโยชน์แห่งลัทธิ ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ลัทธินั้นในการกำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมเสมอ
จะเห็นได้ว่าลัทธิการเมืองนั้นเป็นผลมาจากเหตุผลหลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ลัทธิการเมืองอาจนำเอาแนวความคิดหลายแนว ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมืองหลายส่วนมาผสมผสานกันได้ หรืออาจเกิดขึ้นจากแนวความคิดเดียวหรือปรัชญาการเมืองเดียวก็ได้ นอกจากนั้น แนวความคิดและปรัชญาการเมืองบางอย่างซึ่งมีสาระที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง มีเหตุผล หรือเป็นความจริง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลัทธิการเมืองแบบต่างๆได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าปรัชญาการเมืองบางประการ เช่น ปรัชญาในเรื่องเสรีภาพของบุคคล จะปรากฏให้เห็นเนื้อหาสาระสำคัญของลัทธิการเมืองแบบปัจเจกชนนิยม เสรีนิยม อนาธิปไตย และสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย
5. สังกัปทางการเมือง (Political Concepts)
สุขุม นวลสกุลและโกศล โรจนพันธุ์ (2544 : 2) ได้ให้ความหมายไว้ว่า
สังกัปทางการเมือง หมายถึงความคิดหรือทรรศนะเกี่ยวกับศัพท์เชิงนามธรรมทางการเมือง เช่น ความยุติธรรม, จุดมุ่งหมายแห่งรัฐ, ผู้ปกครองที่ดี, สิทธิ, ความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นต้น ศัพท์เหล่านี้มีความหมายไปหลายทางตามความเข้าใจหรือการพิจารณาของแต่ละคน ทฤษฎีการเมืองเป็นการพยายามหาความเกี่ยวโยงระหว่างสังกัปต่างๆ ดังกล่าวโดยให้ต้องด้วยเหตุผลและความเหมาะสม
แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมือง
จรูญ สุภาพ (2528 : 3) ได้กล่าวถึงแนวความคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมืองไว้ดังนี้ คือ ทฤษฎีการเมืองมุ่งให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. กลุ่ม หมายถึงกลุ่มอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบุคคล
2. ดุลยภาพ หมายถึงสภาวะที่สามารถดำรงอยู่ได้
3. อำนาจ การควบคุม และอิทธิพล ปัจจุบันถือว่าเป็นแนวความคิดที่สำคัญอย่างยิ่งในทฤษฎีการเมือง
4. การดำเนินการหรือการปฏิบัติการ หมายถึงพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มในสภาวการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่มุ่งหวัง
5. ชนชั้นนำ หมายถึงกลุ่มผู้นำหรือชั้นผู้นำ ซึ่งจะต้องปรากฏอยู่ในทุกระบบการเมือง
6. การตัดสินใจ ถือเป็นแนวความคิดพื้นฐานประการหนึ่งในทางการเมือง ระบบ กระบวนการและผลของการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะแห่งระบบการเมืองต่างๆได้
7. ปฏิกิริยาและเกม หมายถึงการกระทำที่มีลักษณะโต้ตอบต่อการกระทำใดๆ เป็นการศึกษาในทำนองคาดคะเนว่าปฏิกิริยาโต้ตอบควรจะเป็นประการใด แนวความคิดในข้อนี้ถือได้ว่า เป็นแนวความคิดในระบอบรองของแนวความคิดที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ
8. หน้าที่ หมายถึงการมุ่งศึกษาถึงหน้าที่หรือการดำเนินงานเพื่อให้บังเกิดผล หน้าที่เหล่านี้บางครั้งก็อาจจะมีผลกระทบต่อสังคม หรือบางทีอาจเป็นสิ่งที่สนับสนุนสังคมนั้นได้ เช่น หน้าที่ของความเชื่อ แบบแผนแห่งพฤติกรรม สถาบัน และวิทยาศาสตร์
แนวความคิด (8 ประการ) ดังกล่าวข้างต้นนี้ นับเป็นเรื่องใหม่ในทฤษฎีการเมือง แต่แนวความคิดที่มีอยู่เดิมของทฤษฎีการเมืองนั้นก็ยังมีความสำคัญอยู่ เช่น สถาบัน รัฐบาล เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเสมอภาค อำนาจอธิปไตย และลักษณะสำคัญสากลของมนุษย์ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีการเมืองช่วยให้วิชาการปกครองหรือวิชารัฐศาสตร์มีลักษณะเป็นปึกแผ่น มีกฎเกณฑ์และแน่นอนมากขึ้น
ผลจากทฤษฎีการเมืองนี้เป็นรากฐานที่สำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ลัทธิการเมืองได้ก่อรูปขึ้น และสร้างเสริมให้ลัทธิการเมืองมีขอบเขตกว้างขวาง ทั้งในด้านสาระเนื้อหา รวมตลอดจนเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลัทธิการเมืองนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อกำหนดระบบการเมืองแห่งลัทธิการเมืองนั้นๆ ข้อคิดจากทฤษฎีการเมืองจึงถือเสมือนเป็นข้อมูลและหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างลัทธิการเมืองให้บังเกิดขึ้นได้
หน้าที่ของทฤษฎีการเมือง
ทินพันธุ์ นาคะตะ (2541 : 41) ได้กล่าวถึงหน้าที่ของทฤษฎีการเมืองในปัจจุบันไว้ดังนี้
หน้าที่ของทฤษฎีการเมืองปัจจุบัน ที่สำคัญๆ ควรมีดังนี้ คือ ประการแรก ช่วยรวบรวมความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยทำหน้าที่เป็นกรอบแห่งแนวความคิด ที่ช่วยกำหนดความหมาย และจัดระเบียบข้อมูล เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งช่วยให้เกิดความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ได้ดีขึ้น ประการที่สอง ช่วยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน เกี่ยวกับเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัยกันต่อไป โดยใช้เป็นเกณฑ์ในการมองปัญหาและตัวแปรต่างๆ ประการที่สาม ช่วยเป็นแนวทางสำหรับการจัดระเบียบ และการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆ ในรูปของคำกล่าวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ค้นพบกันแล้ว เป็นการประมวลความรู้ต่างๆ ประการที่สี่ ช่วยให้มีแนวความคิดที่ทดสอบได้เกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริง และประการสุดท้าย ช่วยให้มีกรอบแห่งแนวความคิด มีเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ รวมทั้งมีตัวแบบสำหรับการมองตัวแปรต่างๆ ในจำนวนที่จำกัด
จุดมุ่งหมายของทฤษฎีการเมือง
จรูญ สุภาพ (2528 : 3) ได้กล่าวไว้ดังนี้
จุดมุ่งหมายของทฤษฎีการเมือง ทฤษฏีการเมืองเสนอแนะเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของรัฐหรือการปกครองได้ด้วย จุดหมายปลายทางนี้เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ทฤษฎีการเมืองจะให้แนวความคิดดังนี้ ความหมายของวัตถุประสงค์และจุดหมายปลายทางของการปกครอง โอกาสที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าว การลงทุน หรือ “ราคา” ของการที่จะได้มาซึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้กำหนดขึ้น รวมตลอดถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ผลที่ตามมา จากการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งการเสี่ยงภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น ปรากฏการณ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องมาจากการกระทำเพื่อให้เข้าถึงซึ่งจุดหมายปลายทาง
ประโยชน์ของทฤษฎีการเมือง
สมพงศ์ เกษมสิน (2519 : 8) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของทฤษฎีการเมืองไว้ว่า ปัจจุบันนี้ทฤษฎีการเมืองวิวัฒนาการมาสู่รูปแบบที่มีลักษณะการใช้หลักเกณฑ์การพิสูจน์ทฤษฎี หรือสมมติฐานที่ตั้งขึ้น โดยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ใช้วิธีการวิจัยจากข้อมูลที่รวบรวมตามหลักการ ทำให้ผลลัพธ์หรือข้อสรุปมีความแม่นยำมากขึ้น แม้จะไม่แน่นอนเหมือนกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Nature Science) แต่ก็นับว่ามีความถูกต้องสูงกว่าวิธีการแบบเดิมที่ใช้เพียงวิธีการสังเกตการณ์และเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีการเมืองมีคุณค่าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือช่วยให้วิชาการปกครองหรือวิชารัฐศาสตร์มีลักษณะเป็นปึกแผ่น มีกฎเกณฑ์และแน่นอนมากขึ้น
ลอเรนซ์ ซี. แวนลาสส์ (Lawrence C. Wanlass, 1953 : 14)กล่าวถึงคุณค่าและประโยชน์ของทฤษฎีการเมือง ดังนี้
1. ทฤษฎีการเมืองช่วยให้คำจำกัดความที่ถูกต้องแก่ศัพท์ทางการเมือง เช่น คำว่า เสรีภาพ, ประชาธิปไตย, ฯลฯ คำจำพวกนี้นิยมใช้กันโดยทั่วไปไม่เฉพาะแต่นักศึกษารัฐศาสตร์เท่านั้น ทฤษฎีการเมืองสอนให้รู้ซึ้งถึงความหมายที่แท้จริงของศัพท์เฉพาะเหล่านี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการแสดงโวหารทางการเมือง โน้มน้าวความคิดเห็นของผู้อื่น
2. ทฤษฎีการเมืองมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะนำผู้ที่ศึกษาให้เข้าสู่บรรยากาศความคิดในสมัยก่อน ช่วยให้เข้าใจถึงพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญๆ เพราะเหตุที่ว่าปรากฏการณ์ในอดีตเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องทราบถึงความคิดที่ชักจูงให้เกิดการกระทำนั้น เช่น การที่จะเข้าใจถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์โลกสมัยกลาง (Middle Ages) นั้น จำเป็นต้องทราบถึงการพิพาทแย่งความเหนือกว่าในการปกครองคนระหว่างจักรพรรดิกับสันตปาปา เป็นต้น
3. ความรู้ในความคิดทางการเมืองแห่งอดีตนั้นมีส่วนช่วยให้เข้าใจถึงการเมืองในสมัยปัจจุบัน เพราะปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในอดีต หรืออาจเทียบเคียงได้กับปรากฏการณ์ในอดีต และหลักการเมืองต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นผลจากวิวัฒนาการของความคิดทางการเมืองสมัยก่อน เช่น ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจในระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีรากฐานมาจากความคิดของเมธีการเมืองสมัยกลาง เป็นต้น
4. ทฤษฎีการเมืองสอนให้มีความเข้าใจในนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการปกครอง เพราะประเทศทุกประเทศต้องมีหลักการอันเกิดจากปรัชญาการเมืองใดปรัชญาหนึ่งเป็นสิ่งนำรัฐบุรุษและประชาชน ในการวางนโยบายหรือปฏิรูปการปกครอง ความก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จของระบบการเมืองในประเทศเป็นผลมาจากการวางโครงร่างการปกครองอยู่ทฤษฎีการเมืองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และความต้องการของประเทศนั้น
5. คุณค่านอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การที่ทฤษฎีการเมืองเป็นเสมือนตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรทางปัญญาในสมัยต่างๆ รัฐในอุดมคติหรือเลิศนครแห่งจินตนาการล้วนแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และความพยายามที่จะใช้ความรู้ความเฉลียวฉลาดเสนอแนะรูปแบบที่ดีที่สุดแห่งการปกครอง (อ้างจาก สุขุม นวลสกุล และโกศล โรจนพันธุ์, 2544 : 6)
สรุป
ทฤษฎีการเมืองโบราณมีลักษณะเป็นปรัชญาการเมืองมากกว่า เพราะเป็นการเน้นรูปแบบการเมืองในลักษณะของอุดมคติ อุดมการณ์ แนวคิด การศึกษาวิเคราะห์ โดยยึดหลัก จริยธรรมและคุณธรรมของผู้ปกครองว่าที่ดีที่สุดหรือที่เลวที่สุดเป็นอย่างไร รูปแบบการปกครองที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์เป็นอย่างไร โดยเกิดจากการศึกษา ค้นคิดขึ้นมาเองของนักปราชญ์เป็นส่วนมาก โดยไม่ได้มีการศึกษาทดสอบ วิเคราะห์ในเชิงวิทยาการที่เป็นที่ยอมรับได้ในหลักการว่า ถูกต้องเที่ยงตรง เพียงแต่อาศัยความมีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือของเจ้าของแนวความคิดเท่านั้น ก็นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ ซึ่งผลที่ตามมาจึงเกิดการเมืองการปกครองในหลากหลายรูปแบบ หลายระบบ และหลายลัทธิ ซึ่งการศึกษาทฤษฎีการเมืองในสมัยโบราณนี้จึงมีลักษณะเหมาะที่จะเป็นการศึกษาปรัชญา หรือประวัติศาสตร์มากกว่ารัฐศาสตร์ การศึกษาทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เริ่มจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความเป็นทฤษฎีมากขึ้น มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างมีความเที่ยงตรงตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น การแสวงหาข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยวิธีทางศาสตร์ การสร้างทฤษฎีทางการเมือง จึงยึดหลักความเป็นจริงที่เป็นผลมาจากการวิจัย จึงมีข้อเท็จจริง หลักการและคุณค่า น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตามแม้ทฤษฎีการเมืองจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างทฤษฎี แต่ไม่อาจถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้ เพราะข้อเท็จจริงของพฤติกรรมทางการเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงได้ ต่างจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งมีความเที่ยงตรง อาจพิสูจน์ได้ตลอดเวลา
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)